ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนามแฝงของ ธัญญา สังขพันธานนท์ กวี นักเขียน เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรท์) ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ชาวอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ที่บ้านหูแร่ หมู่ที่ ๖ ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอเขาชัยสน (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอบางแก้ว) จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของนายชู-นางคลี่ สังขพันธานนท์ บิดาเป็นอดีตครูใหญ่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน ๘ คน ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นบุตรคนที่ ๖ ของครอบครัว
จบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนบ้านหูแร่ ตำบลบางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง จบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนบางแก้ว (เพียร คูณูปถัมภ์) ตำบลเดียวกัน จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนบูรณพัทศึกษา ตำบลและอำเภอเดียวกัน หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูสงขลา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาปัจจุบัน) อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา จนจบการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น แล้วเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนวัดหัวเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ สอบได้วิชาชุดครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา (มหาวิทยาลัยทักษิณปัจจุบัน) สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ หลังจาก กลับไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนเดิมระยะหนึ่ง ก็สอบเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก (มหาวิทยาลัยนเรศวรปัจจุบัน) จนสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย และย้ายไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองจิกตีนเนิน ตำบลวังตะคร้ออำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ต่อมาจึงโอนไปสังกัดภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เนื่องจากพื้นฐานทางครอบครัวที่มีบิดาเป็นครูใหญ่ และมารดาเป็นคนรักการอ่าน จึงทำให้ไพฑูรย์ รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่ออ่านมาก ๆ เข้าจึงอยากจะเขียน จึงเริ่มเขียนทั้งบทกวีและเรื่องสั้นอย่างจริงจังประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๒๐ เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “ความตายของปัญญาชน” เขียนในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านและการศึกษาวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ นับเป็นสิ่งบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อการเขียนหนังสือของไพฑูรย์เป็นอย่างมาก เรื่องสั้นชื่อ “ดอกไม้ที่เธอถือมา” ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นของวารสาร “ประชาบาล” เป็นกำลังใจให้ไพฑูรย์อยากเขียนหนังสือมากยิ่งขึ้น ต่อมาได้มีโอกาสรู้จักกับยงยุทธ ชูแว่น ครูโรงเรียนบ้านหูแร่ ผู้สนใจวรรณกรรมเช่นเดียวกัน จึงได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวรรณกรรม “ประกายพรึก” และร่วมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคนในละแวกนั้นตั้งวงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อวง “ตาคำ” รับงานแสดงดนตรีด้วย
พ.ศ.๒๕๒๕ ได้เข้าร่วมกับเพื่อนนักเขียนกลุ่มต่าง ๆ ในภาคใต้ ก่อตั้งกลุ่มศิลปะและวรรณกรรมชื่อ “กลุ่มนาคร” ขึ้น ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ รัตนธาดา แก้วพรหม โอภาส สอดจิตต์ และพระมหาจตุรงค์ ศรีจงกล จากชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช ประมวล มณีโรจน์ และรูญ ระโนด จากกลุ่มประภาคาร ทะเลสาบสงขลา กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และ เจน สงสมพันธุ์ จากกลุ่มสานแสงทอง เป็นต้น ต่อมาร่วมกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มนาคร อีก ๔ คน คือ รัตนธาดา แก้วพรหม สมใจ สมคิด โอภาส สอดจิตต์ และประมวล มณีโรจน์ เขียนบทร้อยกรองขนาดยาวชื่อ “สองร้อยปีฤๅสิ้นเสดสา” เพื่อร่วมฉลอง ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นงานร้อยกรองขนาดยาวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมมากเล่มหนึ่ง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นหมาก เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
ปลายปี พ.ศ.๒๕๒๕ เรื่องสั้นชื่อ “คือชีวิตและเลือดเนื้อ” ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเรื่องสั้น โครงการหอสมุดครูเทพ (รับรางวัล พ.ศ.๒๕๒๖) เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมมากขึ้น และเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้น ๑ ใน ๑๕ เรื่อง ที่ได้รับคัดเลือกแปลเป็นภาษามลายู โดยสถาบันเดวัน บาฮาซา แห่งประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย
นอกจากจะเขียนเรื่องสั้นอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว ไพฑูรย์ ยังมีผลงานบทร้อยกรองและบทความทางศิลปวรรณกรรม โดยใช้นามแฝงอื่น ๆ อีก เช่น “กำชำ เชื้อชาวนา” “สีคำ ดอกแคขาว” เป็นต้น ไพฑูรย์เขียนบทร้อยกรองมาพร้อม ๆ กับเขียนเรื่องสั้น บทร้อยกรอง “เจ้าร่างน้อยนอนนิ่งบนเตียงค่ำ” เคยเข้ารอบ ๑ ใน ๑๕ บทกวีดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๖ ของงาน “มณีกันยา” ที่จัดโดยนิตยสารถนนหนังสือร่วมกับกลุ่ม วรรณกรรมพินิจ เป็นกลุ่มวรรณกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการวิจารณ์วรรณกรรมในยุคนั้น และบทร้อยกรอง “มือที่ว่างเปล่า” ได้รับการประกาศยกย่องให้ได้รับรางวัลชมเชย ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๘ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศโดยไม่มีใครได้รับรางวัลชนะเลิศ
พ.ศ.๒๕๒๘ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ จัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขาชื่อ “ก่อกองทราย” ประกอบด้วยเรื่องสั้นมากมาย ซึ่งคัดสรรจากเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือต่าง ๆ มาแล้ว จำนวน ๑๒ เรื่อง และหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรท์) ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งมีส่วนพลิกผันให้สถานภาพของเขาเปลี่ยนแปลงไปในเกือบทุก ๆ ด้าน ในช่วงเวลาต่อมา หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ ๒๓ แล้ว โดยสำนักพิมพ์นาคร สำนักพิมพ์ที่เกิดจากผลพวงของการได้รับรางวัลซีไรท์ของเขาโดยตรง
พ.ศ.๒๕๓๐ สำนักพิมพ์นาคร จัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่ ๒ ของเขา ชื่อ “ถนนนี้...กลับบ้าน” เป็นเรื่องสั้นคัดสรรจากเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือต่าง ๆ มาแล้ว ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน ๑๐ เรื่อง หนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์นาครตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๖ แล้ว
พ.ศ.๒๕๓๒ สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์นวนิยายเล่มแรกของเขาชื่อ “ผีแห้งกับโลงผุ” อันเป็นเรื่องราวของคนที่มีชีวิตไร้สาระ ๒ คน สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ แล้วเช่นกัน
พ.ศ.๒๕๓๔ สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่ ๓ ของเขาชื่อ “โบยบินไปจากวัยเยาว์” เป็นเรื่องสั้นคัดสรรจากเรื่องสั้นที่เขาเขียนและตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือต่าง ๆ หลังจากได้รับรางวัลซีไรท์ เป็นต้นมา ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน ๑๒ เรื่อง หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ และสำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๔ แล้ว
พ.ศ.๒๕๓๗ สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่ ๔ ชื่อ “ตุลาคม” ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน ๑๑ เรื่อง หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๘ และเข้ารอบ ๒ เล่มสุดท้ายจากการประกวดรางวัลซีไรท์ พ.ศ. ๒๕๓๙ สำนักพิมพ์นาครพิมพ์มาแล้ว ๒ ครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๘ สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์ “ปรากฏการณ์แห่งวรรณกรรม” วรรณกรรมศึกษาลำดับที่ ๑ เป็นหนังสือรวมบทความทางวิชาการเกี่ยวกับวรรณกรรมจำนวน ๑๐ ชิ้น
พ.ศ.๒๕๓๙ สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์ “วรรณกรรมวิจารณ์” วรรณกรรมศึกษาลำดับที่ ๒ เป็นตำราเกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณกรรมที่ค่อนข้างจะโดดเด่นในแวดวงวรรณกรรมวิจารณ์ในปัจจุบัน
ปัจจุบันไพฑูรย์ ธัญญา รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีคู่สมรสชื่อ นางลาวัณย์ สังขพันธานนท์ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน ยังคงเขียนหนังสือทั้งเรื่องสั้น บทร้อยกรอง บทความทางวิชาการและเป็นคอลัมนิสต์ประจำอยู่ในหนังสือไรเตอร์และเดอะเนชั่นสุดสัปดาห์ (จรูญ หยูทอง)