ฐะปะนีย์ นาครทรรพ
ฐะปะนีย์ นาครทรรพ เป็นนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีไทย และเป็นนักการ ศึกษาที่มีชื่อเสียง มีงานเขียนเกี่ยวกับตำราภาษาไทยหลายเล่ม รวมทั้งบทร้อยกรองอีกเป็นจำนวนมาก ฐะปะนีย์ นาครทรรพ สกุลเดิม ณ ถลาง เป็นบุตรีพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) และคุณหญิงอมรฤทธิธำรง (ตริ ณ ถลาง) เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่บ้านเลขที่ ๔๐๖ ถนนประตูโพธิ์ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ฐะปะนีย์ เป็นพี่คนโต มีน้อง ๖ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๒ คน ในด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับศาสตราจารย์ ดร.อรรถ นาครทรรพ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุตร ๔ คน เป็นชาย ๒ คน เป็นหญิง ๒ คน ปัจจุบันอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๔๔ ซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน ๙ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐ โทร. ๒๗๙๖๖๕๗
การศึกษา
เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนศึกษากุมารี จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นโรงเรียนของคณะมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนและเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนเดียวกันจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยเข้าเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ ที่โรงเรียนสตรีจุลนาค แล้วย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์จนจบชั้นมัธยมปีที่๗ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ มีการรวมโรงเรียนรัฐบาล ๔ โรงเรียนเป็นโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยและโรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์เป็นโรงเรียนหนึ่งใน ๔ โรงเรียนนั้น จึงเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ (มัธยมบริบูรณ์) ที่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลังจากนั้นได้ไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๘ ซ้ำอีกปีหนึ่งที่โรงเรียนราชินีบน เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๘๒ เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ และศึกษาจนได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต และได้รับอนุปริญญาประโยคครูมัธยมในปีถัดมา
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๖ ที่โรงเรียนศึกษากุมารี นครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๔๘๙ รับราชการเป็นครูโทที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และเมื่อทางราชการเปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา ณ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ก็ได้รับหน้าที่สอนวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ที่ โรงเรียนนั้น ด้วย (พ.ศ.๒๔๙๐-๒๔๙๒)
พ.ศ. ๒๔๙๒ ย้ายไปสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมวังจันทรเกษม และในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University U.S.A.) ได้รับปริญญาโท (M.A) ทางวรรณคดีอเมริกันและสัทศาสตร์ (Phonetics)
พ.ศ. ๒๔๙๖ ย้ายไปเป็นครูใหญ่โท โรงเรียนสตรีฉะเชิงเทรา (ดัดดรุณี) เป็นเวลา ๒ ปี
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา สายวิชาภาษาไทย จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์
พ.ศ. ๒๕๑๖ โอนไปเป็นอาจารย์ ในภาควิชามัธยมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๗
พ.ศ. ๒๕๒๓ ลาออกจากราชการเนื่องจากรับราชการนาน
ฐะปะนีย์ นาครทรรพ มีความสนใจการประพันธ์บทร้อยกรองมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนศึกษากุมารี โดยได้รับคำแนะนำและตรวจแก้จากคุณครูอุไรวรรณ พัฒนศรี กลอนบทแรกที่แต่งชื่อ “ผ้าดำผ้าขาว” แต่งเมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.๕ (พ.ศ.๒๔๗๗) มีแนวคิดเกี่ยวกับความดีความชั่วซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ ดังความที่ตีพิมพ์ในหนังสือ “นักเขียนชาวอักษรศาสตร์” ว่า
“อันผ้าดำนำมาเปรียบเทียบให้เห็น
ก็คงเป็นเช่นคนชั่วที่มัวหมอง
ถึงทำผิดสักกี่ครั้งยังลำพอง
เหมือนผ้าดำที่ถูกต้องของพาลา
มันก็ยังเป็นผ้าดำไม่คร่ำเครอะ
ถึงจะเปรอะก็ยิ่งดำกรรมยิ่งหนา
ส่วนคนดีสะอาดกายใจวาจา
ถ้าทำผิดสักคราคงเห็นดำ
เพราะผ้าขาวนั้นขาวบริสุทธิ์
สิ่งใดผุดขึ้นมาก็น่าขำ
คงเห็นเปื้อนแน่ชัดถนัดจำ
เพราะผ้าดำและขาวนั้นต่างกันเอย”
ฐะปะนีย์ นาครทรรพ มีผลงานที่เป็นบทร้อยกรอง บทความและหนังสืออีกเป็นจำนวนมาก หนังสือ “ประวัติและผลงานผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทย” (พ.ศ. ๒๕๒๖) กล่าวถึงงานนิพนธ์ของฐะปะนีย์ว่า
“ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ชอบเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม เช่น ส่งเสริมภาษาไทย ส่งเสริมพุทธศาสนา เสริมสร้างพัฒนาการของเด็กเล็ก ให้คติเตือนใจในการใช้ธรรมะช่วยในการดำรงชีวิต ซึ่งการเขียนแนวนี้ส่งผลให้ได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนา ให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาด้านหนังสือและคำประพันธ์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยการพิจารณาจากผลงานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและภาษิต...” ผลงานของฐะปะนีย์ที่ได้รับรางวัลมี บทดอกสร้อย “ฝนทั่งเป็นเข็ม” ได้รับรางวัลจากจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ “มือของฉันและปาลิไลยก์ช้างแสนรู้” ซึ่งเขียนร่วมกับเกหลง พานิช ได้รับรางวัลจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๕ “นิทานภาพพุทธรักษา” ได้รับรางวัลชมเชยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๔ สำหรับผลงานด้านวิชาการที่ตีพิมพ์เผยแพร่มีหนังสือเรียนภาษาไทยและคู่มือครูวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ของกรมวิชาการ (ร่วมในคณะกรรมการจัดทำสื่อการเรียนวิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษา)
ผลงานวรรณกรรมอื่น ๆ
๑. บทอาศิรวาทในโอกาสต่าง ๆ
๒. “ไทยปฐีพีร่มเย็น คำกาพย์” (มีภาพประกอบพิมพ์ในหนังสือ “เพ็ญพระพิริยะเกินจะรำพัน” ของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
๓. “พลังแห่งทศพิธราชธรรม” (พิมพ์ในหนังสือ “พระมิ่งขวัญจิตรลดา” เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีพระชนมายุครบ ๕ รอบ)
๔. “ใต้ร่มพระมหากรุณาธิคุณ” (พิมพ์ในหนังสือ “จิตรลดารวมใจ” เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ)
๕. หนังสือทศชาติคำกาพย์ (หนังสืออ่านเพิ่มเติมระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมต้น) ๖. หนังสือ “สัชชุริสธรรม” (หนังสืออ่านเพิ่มเติมวิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น)
๗. หนังสือ “หนูน้อยพลอยเพลิน” (บทร้อยกรองสำหรับเด็กเล็ก)
๘. หนังสือ “ศึกษาภาษิตและร้อยกรอง” (บริษัท ต้นอ้อ จำกัด)
๙. หนังสือ “จากใจแม่” (หนังสืออ่านเพิ่มเติมระดับประถมศึกษา)
๑๐. บทวิทยุรายการ “อยู่อย่างไทย” (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๖ ประมาณ ๕๐ เรื่อง)
๑๑. บทโทรทัศน์รายการ “อยู่อย่างไทย” ประมาณ ๔๐ เรื่อง
๑๒. หนังสือ ภาษา-พาสาร (ว่าด้วยสำนวนไทย เขียนให้ชุมนุมภาษาไทยของคุรุสภา)
๑๓. หนังสือ “การประพันธ์” (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์)
๑๔. หนังสือ “การเขียน ๒” (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์)
๑๕. หนังสือเอกสารการสอนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ๕ ชุดวิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทย การสอนภาษาไทย การอ่านสำหรับครู การเขียนสำหรับครู และพัฒนาการวรรณคดีไทย
๑๖. หนังสือเรียนภาษาไทย ที่ทำร่วมกับคณะกรรมการสื่อการเรียนภาษาไทยของกรมวิชาการระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
เกียรติคุณที่ได้รับ (ภายหลังเกษียณอายุ)
๑. ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๕
๒. เสมาธรรมจักรประเภทบำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพุทธศาสนาด้านหนังสือและคำประพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕
๓. โล่เกียรติยศศึกษานิเทศก์ดีเด่น จากสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๗
๔. โล่นักกลอนดีเด่น จากสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๙
๕. พระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๓
๖. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. ๒๕๓๓
๗. โล่ประพันธ์เพลงให้แก่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๓
๘. โล่เกียรติคุณคนดีเมืองนครศรีธรรมราช วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓
๙. ศิษย์เก่าดีเด่นของสวนสุนันทา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๐. ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (ร้อยแก้วร้อยกรอง) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๓๕